ประเด็นร้อน

จับปลาตัวใหญ่ หยุดขบวนการ'ปล้นเงินคนจน'

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 19,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

เราเชื่อว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือทฤษฎี'จับปลาตัวใหญ่'ซึ่งแนวทางนี้ ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาใน เกาหลีใต้และฮ่องกง มาแล้ว ซึ่งเมื่อย้อนดูกลับไป ตอนนั้นเขารุนแรงกว่าเราหลายเท่า แต่ก็แก้ปัญหา เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี อย่างมีนัย และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไทยไปศึกษา 2 ประเทศนี้หลายครั้ง แต่ผลการศึกษากลับถูกเก็บในลิ้นชัก ไม่เคยหยิบนำมาใช้ ในทางตรงกันข้าม หลายกรณี สงสัยว่าคนระดับสูงในทางธุรกิจ การเมือง หรือราชการ มีส่วน กับคอร์รัปชันกรณีนั้นๆ แต่สุดท้ายลอยนวล กฎหมายลงโทษได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย น้อยครั้งที่จะโยง จับไปถึงตัวการระดับสูง หรือที่เราเรียกว่า "ปลาตัวใหญ่" โดยเฉพาะประเด็นปล้นเงินคนจน ทุจริตเงิน คนไร้ที่พึ่ง ที่กำลังสงสัยอยู่วันนี้ ว่าอาจจะมีระดับสูงเกี่ยวข้องด้วย

 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบัน กรรมการบริหารไทย หรือ ไอโอดี เคยอธิบายไว้น่าสนใจว่า "จับปลาตัวใหญ่" หมายถึง ต้องนำคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันมาลงโทษจำคุกให้ได้ เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ เพราะถ้าคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีลงโทษ คนทั้งประเทศก็จะไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศแก้ไขได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้คอร์รัปชันให้สำเร็จ เงื่อนไขนี้ต้องมีเป็นอันดับแรก เป็นประเด็นความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องมี เพราะเป็นตัวชี้ขาดว่าการแก้ไขคอร์รัปชันของประเทศจะสำเร็จหรือไม่ คือ ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหนต้องถูกจับกุมลงโทษ เมื่อทำผิด ไม่มีข้อยกเว้น

 

หากทำได้เช่นนี้ ก็จะทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป คอร์รัปชันก็จะน้อยลง เหตุที่ต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะปัญหาคอร์รัปชันอย่างของไทย เป็นปัญหาระบบ ที่การทุจริตคอร์รัปชันมีไปทั่ว และฝังอยู่ในพฤติกรรมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาคราชการ มีการให้สินบน วิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ไม่เกรงกลัวผลประโยชน์ขัดแย้ง คือ ใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง เหล่านี้เกิดขึ้นแพร่หลายจนเหมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันดังนั้นโจทย์ของการแก้คอร์รัปชันก็คือจะสร้างระบบแรงจูงใจในสังคมอย่างไรให้คนในสังคมเปลี่ยนพฤติกรรม จากการทุจริตคอร์รัปชันหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจทางเศรษฐกิจหาประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย เป็นพฤติกรรม ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ทุกคนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และ การจับปลาตัวใหญ่ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั่วไปได้

 

งบประมาณสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ความคืบหน้าก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบหลักฐาน การทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 44 ศูนย์ใน 44 จังหวัด จากทั้งหมด 77 ศูนย์ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เรียกว่าตรวจสอบที่ไหน ก็พบที่นั่น แต่ล่าสุดข้อมูลที่ล่าความจริงได้รับมาจาก ป.ป.ท. คือ พบหลักฐาน การทุจริตในหน่วยงานอื่นของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการด้วย นั่นก็คือ "นิคมสร้างตนเอง" ซึ่งถือได้ว่าโกงกันแบบโจ่งครึ่มแบบนี้ สังคมก็ตั้งคำถามว่ามีข้าราชการระดับสูงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ถึงระดับไหน ซึ่งหากดูเส้นทางและวิธีการโกงเงินคนจน แล้ว เพียงแค่ระดับ 8 คงไม่สามารถ ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานหลายปีเช่นนี้ ที่สำคัญหลายคดีก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่เคยถูกนำมาลงโทษ ทั้งๆที่สังคมสงสัยและค่อนข้างมั่นใจว่าเกี่ยวข้อง

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw